ก่อนที่จะมาดูกันว่าจะซื้อ LTF / RMF เท่าไหร่ดีถึงจะเหมาะ ต้องมาทบทวนกันก่อนว่า
ทำไมถึงต้องซื้อ ?
ผมเชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนหลายๆ คนยังไม่เคยคิดจะซื้อ ไม่รู้ว่าจะซื้อไปทำไม เพราะมองเรื่องการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัว งั้นผมขอให้ปรับทัศนคติใหม่นะครับ จงมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และจงหันมาสนใจการออมเงินให้มากขึ้น เพื่ออนาคตข้างหน้าจะได้มีเงินไว้ใช้ ไม่ลำบาก เพราะทุกวันนี้เรายังบ่นกันว่าของแพง แต่เงินเดือนเท่าเดิม ยิ่งทำให้เราต้องรู้จักวางแผนทางการเงินให้มากขึ้น
(1) LTF ชื่อเต็ม ก็คือ Long Term Equity Fund หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว
เป็นกองทุนรวมที่ผู้ลงทุนเหล่า มนุษย์เงินเดือน สามารถนำเงินลงทุนในแต่ละปีมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ และนอกจากนี้ยังช่วยสร้างผลตอบแทน แบบว่ามีเงินเพิ่มขึ้นจากที่ลงทุนไปให้เราได้ใช้ในอนาคต และบางกองทุนระหว่างปีก็มีปันผลให้ด้วย ขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละกองว่ามีการจ่ายปันผลหรือไม่
ถ้ามีเงินปันผล ก็ต้องเสียภาษีด้วย
ถ้าไม่มีจ่ายปันผล ก็เอาเงินส่วนนั้นไปลงทุนต่อ
สำหรับใครที่สนใจก็ต้องศึกษาดูว่าแต่ละกองทุนเขาไปลงทุนอะไรบ้าง ความเสี่ยงก็มีระดับที่แตกต่างกันไป อยู่ที่เรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน
(2) RMF ชื่อเต็ม ก็คือ Retirement Mutual Fund หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
รูปแบบจะคล้ายกับ LTF คือ ลงทุนแล้วสามารถเอามาลดหย่อนภาษีได้ด้วย ตัวนี้ไม่มีปันผลนะครับ เขาเน้นลงทุนระยะยาวเพื่อวัยเกษียณ เข้าใจตรงกันนะครับว่าวัยเกษียณ นั่นคือ ลงทุนไปเรื่อย ๆ ทุกปีจนถึงอายุ 55 ปี
ขั้นต่ำของการลงทุนคือ 5,000 บาท หรือ 3% ของรายได้
ตรงนี้ทำให้หลายคนอาจมองว่าไกลตัวเกินไปต้องลงทุนทุกปี เอาแค่ LTF ก็พอแล้ว หากมาคิดดูดี ๆ RMF ก็สำคัญเหมือนกันนะ ถ้าเราออมตั้งแต่วันนี้เพื่อสบายในวันหน้า ออมได้ไว ตอนอายุยังไม่เยอะ พอถึงวัยเกษียณ เราก็จะมีผลตอบแทนจากเงินออมได้มากขึ้น
คุณลองคิดถึงตัวเองในวัย 55 ปี อยากจะมีเงินใช้เดือนเท่าไหร่ แล้วถ้าไม่เริ่มออมตั้งแต่วันนี้ ถึงตอนนั้นจะเป็นจริงได้ไหม ลองกลับมาสนใจ RMF กันดูนะครับ ศึกษาข้อมูลแต่ละกองทุนว่าเขาไปลงทุนในไหนบ้าง ระยะยาวให้ผลตอบแทนที่ดีหรือไม่
เมื่อเข้าใจความหมายของทั้ง LTF และ RMF แล้ว เราก็มาดูกันว่าจะซื้อเท่าไหร่ดี
จะได้เตรียมตัวถูก ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่าซื้อน้อยไปก็เอาไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เต็ม หรือ ซื้อมากเกินไปเพราะเข้าใจว่าจะได้ลดหย่อนภาษีได้เยอะ ๆ แบบจัดเต็ม ไม่ใช่นะครับ มันมีเงื่อนไขอยู่ ซื้อเยอะเกินไปก็เอาไปลดหย่อนภาษีไม่ได้
ดังนั้น คุณต้องเอาเงินเดือนของคุณรวมกันทั้งปีรวมโบนัส ทั้งหมดเท่าไหร่เป็นเงินสุทธิ แล้วหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน แล้วไปดูอัตราภาษีที่ต้องเสีย
ถ้าไปเทียบแล้ว อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ LTF/RMF เอาเงินไปลงทุนอย่างอื่นได้เลย แต่ถ้าสนใจลงทุนในกองทุนรวม ก็สามารถซื้อกองทุนรวมทั่วไปได้ที่ไม่ใช่ LTF/RMF
คราวนี้ก็มาดูกันว่าจะให้ซื้อเท่าไหร่
ซึ่งเขากำหนดให้เราสามารถซื้อ LTF ได้สุงสุด 15% ของรายได้รวม และ ยอดรวมไม่เกิน 500,000 บาท และ สำหรับ RMF ก็คล้ายกัน คือ 15% ของรายได้รวม และ ยอดทั้งหมดเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และ กบข. จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
สมมุติว่าเรามีเงินเดือน 25,000 บาท x 12 เดือน
ก็จะได้ 300,000 บาท
เราสามารถซื้อกองทุน LTF/RMF แต่ละประเภทได้สูงสุด 15% ก็เอา 300,000 x 0.15 = 45,000 บาท
ก็แสดงว่าสามารถซื้อกองทุน LTF ได้สูงสุด 45,000 บาท และ ซื้อกองทุน RMF ได้สูงสุด 45,000 บาท
หวังว่าคงจะพอมองภาพออกกันนะครับเกี่ยวกับ LTF / RMF ใครเงินเดือนเท่าไหร่ก็ลองเอาไปคำนวณกันดู จะช่วยให้คุณประหยัดภาษีได้เท่าไหร่ เงินที่ประหยัดไปก็เอาไปออมต่อได้อีก
สุดท้ายนี้ การซื้อกองทุนเขาไม่ได้บังคับให้เรามาซื้อกันตอนปลายปีนะครับ สามารถซื้อได้ตั้งแต่ต้นปี ค่อย ๆ ทยอยซื้อสะสม หรือ จะตั้งไว้เลยว่าจะซื้อทุกเดือนเก็บไว้
หวังว่าบทความนี้จะทำให้มนุษย์เงินเดือนหันกลับมาสนใจการออม เอามาลงทุนกันนะครับ ขอย้ำว่าแต่ละกองทุนอาจให้ผลตอบแทนได้ไม่เท่ากัน ไม่ใช่หลับตาแล้วจิ้มซื้อเลย ใครบอกกองทุนไหนดีก็ซื้อตามเลย แบบนี้เสี่ยงนะครับ เงินทุนที่อุตส่าห์ออมมา อาจเสียหายได้ ยังไงก็ศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อนแล้วจึงตัดสินใจลงทุนนะครับ
iSalaryman หรือ คุณสมเกียรติ สุขเสรีกุล นักลงทุนหุ้น เจ้าของหนังสือ Best Seller “เล่นหุ้นสไตล์มนุษย์เงินเดือน” และ บล็อกเกอร์ชื่อดัง isalaryman.com ที่ได้รางวัล Thailand Blog Award 2012
ที่มา :
http://www.krungsri.com/