นายแทม ดอทคอม
 
 วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม 2559 เวลา 20:28 น.

ทำไมถึงต้องสร้างเว็บไซต์ปลอม หรือ เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาให้อยากคลิกไปอ่าน มันได้อะไร ทำไปทำไม

อินเทอร์เนตและเทคโนโลยี ›› อัพเดทโลกอินเทอร์เน็ต
ผู้เขียน :

คุยกับนายแทม


คำค้น :

ทำไมถึงต้องสร้างเว็บไซต์ปลอม หรือ เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาให้อยากคลิกไปอ่าน มันได้อะไร ทำไปทำไม

ทำเว็บไซต์ข่าวปลอม หรือ เว็บไซต์กุข่าวขึ้นมา (เช่น ดาราดังเสียชีวิต ฯลฯ) เพื่ออะไร ? คำตอบมีอันเดียวครับ เพื่อรับรายได้จากการแสดงโฆษณา (อันนี้ได้แน่นอน) และ ถ้าฟลุค คือ ผู้ชมคลิกแบนเนอร์โฆษณา (ได้อีกต่อหนึ่ง) และ ยังได้อีกต่อ ถ้าผู้ชมสมัครใช้บริการ (ได้ค่าคอมมิชชัน สำหรับบางเว็บไซต์)

แต่เพราะการสร้างเนื้อหาเองให้ผู้ชมสนใจถึงขั้น "อ่านและแชร์" ตามปกตินั้นยากนะครับ เหมือนผมเขียนเนื้อหาเผยแพร่ ก็ต้องนั่งคิดหัวข้อ หาข้อมูล เรียบเรียงเนื้อหา ตรวจทาน ทำรูปประกอบ กว่าจะเสร็จ 2-4 ชั่วโมงครับ

บางบทความเขียนแทบตาย คนไทยไม่ค่อยอ่าน อ่านแต่ไม่ค่อยแชร์ .. ก็เยอะครับ

เว็บมาสเตอร์สายมืด เลยละเมิดจริยธรรมในอาชีพ ทำเว็บไซต์ปลอมขึ้นมาหลายรูปแบบ เช่น

  • สร้างชื่อเว็บไซต์คล้ายเว็บไซต์จริง แล้วคัดลอกเนื้อหาข่าวมาใส่ทั้งหมด
  • สร้างชื่อเว็บไซต์มั่ว ๆ เช่น hipnewswowthailand แล้วนำข่าวจริง มาขยายหัวข่าวเกินจริง เช่น ข่าวจริงดาราไปกินข้าวกุ๊กกิ๊กกัน ข่าวปลอมก็จั่วหัว 'แฉ ดาราดังกินข้าวเสร็จแล้วเข้าม่านรูด' (อ่านแล้วอยากคลิกเข้าไปอ่าน .. ไหมละ)
  • สร้างชื่อเว็บไซต์ปกติ แต่จั่วหัวให้น่าคลิก เช่น 'ไม่น่าเชื่อ ทำแบบนี้ลดน้ำหนักได้จริงรู้แบบนี้ทำมานานแล้ว' หรือ 'เมื่อผู้ชายจับได้ว่าแฟนมีกิ๊ก นี่คือสิ่งที่เขาทำเกินคาด'
  • กุเรื่องขึ้นมาเลย โดยค้นหารูปก่อน แล้วเขียนเนื้อหาให้ประกอบรูป เช่น หาเจอรูปทหารเทข้าวลงบนผืนพลาสติกในป่า (ซึ่งความจริง คือ ถุงข้าวมันแตก แล้วย่ามใส่ภาชนะมันหล่นตกน้ำ) ก็นำมากุเรื่องว่า นี่ คือ ความลำบากของทหารไปรบ บลา ๆ ใส่วันที่ สถานที่ ซะจนเคลิ้ม

เป้าหมายทั้งหมด เพื่อให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วม และ ต้องแชร์

ยิ่งแชร์ คนยิ่งเห็น -> คนยิ่งเห็น ยิ่งคลิ๊กเปิด นี่ไง !! รายได้สเตปแรกมาแล้ว คือ จำนวนการแสดงผลแบนเนอร์โฆษณา แค่แสดงผล ก็ได้เงินแล้ว

แต่นี่ คือ ภัยสังคมครับ !

เพราะสังคมจะตื่นตระหนกกับเนื้อหาที่แชร์ออกไป บางเรื่องเป็นวิธีการประสาท ๆ ทำแล้วถึงตายได้ เช่น การกินน้ำโซดากับน้ำมะนาวแก้มะเร็ง , การกินอาหารผิดหลักโภชนาการ เพื่อลดน้ำหนัก ฯลฯ

และผู้ถูกกล่าวถึงในข่าว (หรือ อยู่ในรูป) ก็ได้รับความเสื่อมเสียด้วย โอเคหละว่า แม้ข่าวจะคัดลอกโดยไม่มีการบิดเบือนใด ๆ จากเว็บไซต์ข่าวจริง แต่ผิดลิขสิทธิ์ครับ

ในด้านผู้ให้บริการรับโฆษณารายใหญ่ในไทย เช่น Google Adwords / Yengo ฯลฯ (ในต่างประเทศมีนิยมมากกว่านี้) ก็ได้รับความเสื่อมเสียด้วย

แม้ว่า Google และ Yengo จะมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ในการอนุญาตให้เว็บไซต์ไหนแสดงแบนเนอร์โฆษณาได้ แต่เว็บมาสเตอร์สายดำมืด ก็ไม่ลดความโลภครับ ก็พากันไปหา ผู้ให้บริการรับโฆษณาอื่น ๆ ของต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า และเนื้อหาชวนคลิกกว่า ซึ่งก็มี 4 เรื่อง คือ

  1. โฆษณาทางเพศ
  2. โฆษณาการเงินให้คนรวย
  3. โฆษณาการพนันออนไลน์
  4. โฆษณาเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์

จุดจบของเว็บไซต์สายมืดพวกนี้ชัดเจนขึ้น เมื่อ facebook ซึ่งเป็นแหล่งแพร่กระจายในประเทศไทยเป็นอย่างดีได้จำกัดการเข้าถึงเนื้อหาพวกนี้ผ่านการแชร์บน facebook แล้ว 

ส่วน Google ก็ไม่แสดงผลเว็บไซต์พวกนี้ในผลการค้นหา ส่วน Google Adwords และ Yengo ยังระงับการแสดงผลแบนเนอร์โฆษณาบนเว็บไซต์เหล่านั้นโดยอัตโนมัติ และยังใช้เจ้าหน้าที่คัดกรองทุกวัน

เป็นความร่วมมือของผู้ประกอบการบนโลกออนไลน์อย่างจริงจังมากขึ้น เพราะโฆษณายังคงจำเป็น แต่ต้องสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้คนสนใจจะอ่าน และ สิ่งที่อ่านต้องเป็นความจริง ได้มาโดยชอบอีกด้วย

การกีดกันของ facebook จึงช่วยให้จุดจบของเว็บไซต์ผิด ๆ พวกนี้ถึงจุดจบเร็วขึ้น

 

หมวดหลัก
อินเทอร์เนตและเทคโนโลยี


หมวดย่อย
 
นายแทม นายแทม ดอทคอม ™ 2007 - 2023
อนุญาตให้คัดลอกเนื้อหา ยกเว้นเพื่อการค้า

 นายแทม ดอทคอม |  นายแทม ดอทคอม
 นายแทม ดอทคอม |  @naitam

โดย ห้างหุ้นส่วนสามัญ นายแทม เว็บดีไซน์
ปณจ. 26 หางดง เชียงใหม่ 50230
052-081830